top of page
ค้นหา
  • Frank Troyka

Indoor & Outdoor Sound by System Blue


ได้รับอนุญาตให้แปลและเผยแพร่โดยเจ้าของบทความ systemblue.org/blog/ โดย Mr.Frank Troyka

เสียงแบบ Indoor และ Outdoor

เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนร่วมงานของผมถามผมว่า "ปีนี้เราจะเริ่มซ้อมวงให้ปรับซาวด์เป็นแบบ Indoor เมื่อไหร่?" ผมลังเลอยู่ซักครู่เพราะผมไม่แน่ใจในคำถาม "คุณหมายถึงอะไรเหรอ? ซาวด์แบบ Indoor?" ผมตอบ

"ก็นั่นไง ซาวด์แบบที่คุณเล่นในสนามกับแบบที่คุณเล่นในวงคอนเสิร์ต คุณจะเริ่มเปลี่ยนตอนไหน? เราจะรอจนแข่งแปรขบวนจบเลยหรือเปล่า?"

ผมก็ยังลังเลที่จะตอบอยู่ดี . . .

เสียง : มีเพียงรูปแบบเดียว

ตามประสบการณ์ของผม วงที่พยายามเล่นให้ดีที่สุดเสมอจะสามารถเล่น "Indoor Sound" แบบที่ทำให้ผู้ชมที่ชอบวงแปรขบวนก็สามารถตื่นเต้นและชอบมันได้ (และรวมถึงกรรมการด้วย) สมัยก่อนที่วงดรัมคอร์ปยังเล่นด้วยเครื่องบิวเกิล คีย์จี ที่มีเพียง 2 วาล์ว (หรือวาล์วเดียวกับโรเตอร์อีก 1 อัน) แน่นอนว่าตอนนั้นมีเสียงแบบที่เฉพาะเจาะจงกับวงแบบดรัมคอร์ป วงโยธวาทิตมากมายเข้าใจผิดและพยายามสร้างเสียงแบบเดียวกับเครื่องบิวเกิล การที่โทนเสียง, อินโทเนเชั่น, การโปรเจคเสียง, ฯลฯ ของดรัมคอร์ปมันออกมาเป็นอย่างนั้นเพราะเครื่องดนตรีที่ใช้มันถูกบังคับมา (บิวเกิล คีย์จี)

ซึ่งที่จริงแล้ว วงโยธวาทิตไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของประเภทเครื่องดนตรีที่ใช้ แต่เพราะว่าวงแบบดรัมคอร์ปนั้นประสบความสำเร็จมาก ทำให้วงโยธวาทิตหลายๆวงพยายามเลียนแบบในทุกๆด้าน (รวมถึงเรื่องเสียง) ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วงดรัมคอร์ปที่ดีได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนใกล้เคียงกับวงโยธวาทิตที่ดี มากกว่าวงโยธวาทิตที่พยายามเลียนแบบ ดรัมคอร์ปเสียอีก

วิธีการ : มีหลายรูปแบบ!

ถึงแม้ผมจะไม่เชื่อว่ามีซาวด์แบบ indoor หรือ outdoor เป็นการเฉพาะ แต่ที่แน่นอน คือ มันมีวิธีการปรับวงให้สร้างเอฟเฟคเสียงที่เหมาะกับการแสดงแบบ indoor และ outdoor เพื่อให้สามารถสร้างเสียงที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องสถานที่การแสดง

วิธีการหนึ่งในนั้นก็คือ การแปลงคำศัพท์ที่กำกับเรื่องความดังเป็นค่าตัวเลข (เช่น ff = เลเวล 7 / pp = เลอำส 2 / ฯลฯ) ซึ่งมีเป้าหมายโดยเฉพาะเพื่อการปรับความดังในช่วงที่เครื่องลมไม้หรือ keyboard percussion ต้องเล่นเอฟเฟคที่เด่นชัดในโชว์ บางทีอาจจะเป็นเพราะวงโยธวาทิตนั้น มีเสียงเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทมาก วิธีการนี้จะทำให้ภาพรวมการแสดงของวงชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเพิ่มเติมก็คือ ผมมองว่าการแสดงแบบนั่งบรรเลงนั้น เสียงรบกวนต่างๆบนเวทีนั้นส่งผลกระทบต่อการแสดงอย่างมากทำให้นักดนตรีต้องเล่นอย่างมีไหวพริบและมีชั้นเชิงมากกว่า เพราะฉนั้นผมจะไม่ใช้วิธีการบอกค่าความดังเป็นตัวเลข แต่คำศัพท์กำกับความดังแบบเดิมแทน

บทเพลงที่มักจะถูกแปลงมาให้วงโยธวาทิตเล่นนั้น เป็นเหมือนบทย่อจากชิ้นงานขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี "Musicianship" (หรือศิลปะการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยเสียงดนตรี) จะต้องไม่ถูกลดทอนคุณภาพลงมาด้วย เป้าหมายและการสอน musicianship ควรจะต้องเป็นเหมือนเดิม

หรือใครจะกล้าเถียง? ว่าทุกๆวงควรจะต้องพยายามเล่นให้ได้เสียงที่ดีที่สุดอยู่เสมอ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมดรัมคอร์ปสมัยใหม่เปลี่ยนจากการใช้เครื่องบิวเกิลมาเป็นเครื่องวงโยธวาทิต (ลองดูดรัมคอร์ปชั้นนำหลายๆวงก็ได้ ที่เริ่มเลือกใช้ทรอมโบนเสริมในแนวบาริโทน!)

เด็กๆเข้าใจว่าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องไหน?

ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีการสอนแบบไหน เด็กๆที่คุณสอนจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่ "คุณ" ให้ความสำคัญเสมอ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับการเล่นให้เสียงดัง ถึงแม้ว่าคุณภาพเสียงจะแย่ลงก็ตาม เด็กที่คุณสอนก็จะให้ความสำคัญตามนั้น พวกเขาจะไม่รู้ความแตกต่างหรอก

แต่ถ้าคุณให้ความสำคัญกับการเล่น fortissimo โดยที่ยังให้เสียงมีคุณภาพอยู่ เด็กๆของคุณก็จะพยายามเล่นให้เสียงดีที่สุดแบบที่วงออร์เครสตราเล่นกันเลยทีเดียว! (แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องสามารถสอนและสาธิตให้เด็กๆของคุณเข้าใจได้ด้วยนะ)

ถ้างั้น...มันมีซาวด์แบบ indoor และ outdoor หรือเปล่า?

"ตามความเห็นของผม" มันไม่มีหรอกซาวด์แบบ indoor หรือ outdoor มันมีแค่วิธีการที่ทำให้การสร้างเอฟเฟคนั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นหมายถึงคุณจะต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องสถานที่แสดงและคุณค่าทางศิลปะด้วย ถ้าเรายกให้เรื่องคุณภาพสำคัญเหนือทุกสิ่ง เราก็จะสามารถสร้างการแสดงที่น่าพอใจและมีคุณภาพที่ดีได้

แต่ก็นั่นแหละ นั่นแปลว่าคุณต้องเป็นศิลปินที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งนั่นต้องอาศัยความทุ่มเทชั่วชีวิต ไม่ใช่แค่การวางแผนชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน

Frank Troyka, Director of Education

System Blue


ดู 346 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page